วันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2551

Lamphun

Phuket / Information By Thaisho Tour
แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียงฝั่งทะเลอันดามัน
ติดต่อได้ที่ E-mail:thaishotour@hotmail.com


จังหวัด ลำพูน
คำขวัญ ประจำจังหวัดลำพูน พระธาตุเด่น พระรอดขลัง ลำไยดัง กระเทียมดี ประเพณีงาม จามเทวีศรีหริภุญไชย

จังหวัดลำพูน เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือตอนบน นับเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ ยาวนาน เคยเป็นที่ตั้งของนครหริภุญชัย ในสมัยพระนางจามเทวีเดิมชื่อเมืองหริภุญไชย เป็นเมืองโบราณ มีอายุประมาณ 1,343 ปี ตามพงศาวดารโยนกเล่าสืบต่อกันถึงการสร้างเมืองหริภุญไชย โดยฤๅษีวาสุเทพ เป็นผู้เกณฑ์พวกเม็งคบุตรหรือชนเชื้อชาติมอญมาสร้างเมืองนี้ขึ้น ในพื้นที่ระหว่างแม่น้ำสองสาย คือ แม่น้ำกวงและแม่น้ำปิง เมื่อมาสร้างเสร็จได้ส่งทูตไปเชิญราชธิดากษัตริย์เมืองละโว้พระนาม “จามเทวี” มาเป็นปฐมกษัตริย์ปกครองเมืองหริภุญไชยสืบราชวงศ์กษัตริย์ต่อมาหลายพระองค์ จนกระทั่งถึงสมัยพระยายีบาจึงได้เสียการปกครองให้แก่พ่อขุนเม็งรายมหาราช ผู้รวบรวมแว่นแคว้นทางเหนือเข้าเป็นอาณาจักรล้านนา

ถึงแม้ว่าเมืองลำพูนจะตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรล้านนา แต่ก็ได้เป็นผู้ถ่ายทอดมรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมให้แก่ผู้ที่เข้ามาปกครอง ดังปรากฏหลักฐานทั่วไปในเวียงกุมกาม เชียงใหม่ และเชียงราย เมืองลำพูนจึงยังคงความสำคัญในทางศิลปะและวัฒนธรรมของอาณาจักรล้านนา จนกระทั่งสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมืองลำพูนจึงได้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย มีผู้ครองนครสืบต่อกันมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เมื่อเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้าย คือ พลตรีเจ้าจักรคำ ขจรศักดิ์ ถึงแก่พิราลัย เมืองลำพูนจึงเปลี่ยนเป็นจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ปกครอง สืบมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน นอกจากจังหวัดลำพูนจะมีชื่อเสียงในฐานะเป็นเมืองประวัติศาสตร์แล้ว ยังเป็นแหล่งเพาะปลูกลำไย พระเครื่อง โบราณสถานที่สำคัญ และผ้าทอฝีมือดี


วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร
สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ในรัชสมัยของพญาอาทิตยราช กษัตริย์แห่งราชวงศ์จามเทวีวงศ์ โดยที่แห่งนี้ เคยเป็นพระราชฐานของพระองค์ซึ่งพระราชทานอุทิศถวายให้เป็นวัดพระธาตุฯ เพื่อเป็นพุทธบูชาหลังจากที่พระบรมสารีริกธาตุได้ปรากฏ ให้พระองค์ได้ทอดพระเนตรในบริเวณดังกล่าว มวลสารผงจากองค์พระบรมธาตุหริภุญชัยใช้ทำพระสมเด็จจิตรลดา

พระบรมธาตุหริภุญชัย เป็นโบราณสถานอันสำคัญของนครหริภุญชัยที่ พระเจ้าอาทิตยราช เป็นผู้สถาปนาขึ้นในราว พุทธศตวรรษที่ ๑๗ เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ อันมี ธาตุกระหม่อม ธาตุกระดูกอก ธาตุกระดูกนิ้วมือ และธาตุย่อยอีกเต็มบาตรหนึ่ง ตามพุทธทำนายลักษณะทางสถาปัตยกรรมขององค์พระธาตุหริภุญชัย ตามที่ปรากฏในหนังสือตำนานพระธาตุหริภุญชัย กล่าวว่า มีลักษณะ เป็นสถูปสี่เหลี่ยมทรงปราสาท ที่มีซุ้มทวาร เข้า- ออกทะลุกันได้ทั้งสี่ด้าน มีปราสาทสี่เหลี่ยมอยู่ตรงมุมละองค์ก่อด้วยศิลาแลงซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีมากอยู่ในเมืองนี้ ภายในเป็นแท่น สำหรับประดิษฐาน พระโกศที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในสมัยของพญาสรรพสิทธิ์ กษัตริย์แห่งราชวงศ์จามเทวีวงศ์ ทรงโปรดให้ปฏิสังขรณ์เจดีย์เดิมที่พญาอาทิตยราชทรงสร้างไว้และได้ขุดร่องทวารประตูเข้า-ออก ทั้งสี่เพื่อความปลอดภัย รูปทรงสันฐานขององค์พระบรมธาตุยังคงเป็นลักษณะเดิม คือ เป็นทรงปราสาทสี่เหลี่ยมที่กว้างใหญ่และสูง เมื่อ พญามังราย ตีเมืองหริภุญชัยได้ โปรดให้ซ่อมแซมดัดแปลงองค์พระธาตุขึ้นใหม่ การปฏิสังขรณ์ครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงทรวดทรง ขององค์พระธาตุฯ จากทรงปราสาทกลายเป็นทรงเจดีย์ฐานกลมแบบทรงลังกา ในสมัยของพระเจ้าแสนเมืองมาประมาณปี พ.ศ. ๑๙๕๑ โปรดให้มีการปิดทององค์พระธาตุ พ.ศ. ๑๙๙๐ พระเจ้าติโลกราชกษัตริย์องค์สำคัญแห่งเมืองเชียงใหม่ ทรงร่วมกับพระมหาเมธังกรเถระ ก่อพระมหาเจดีย์ให้สูงขึ้นเป็น ๙๒ ศอก กว้างยาวขึ้น ๕๒ ศอก เป็นรูปร่างที่เห็นเป็นอยู่ในปัจจุบัน



วัดจามเทวี หรือเดิมชื่อ วัดกู่กุด ตั้งอยู่บนถนนจามเทวี หมู่ 5 ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน
เมื่อปีพ.ศ. 1298 พระนางจามเทวีนำช่างละโว้ (ปัจจุบันคือ จังหวัดลพบุรี) ไปสร้างพระเจดีย์สุวรรณจังโกฎ เป็นพระเจดีย์สี่เหลี่ยมแบบพุทธคยาในประเทศอินเดีย ทุกๆด้านมีพระพุทธรูปยืนปางประทานพรศิลปกรรมของลพบุรีมีพระพุทธรูปยืนอยู่ในซุ้มพระทั้งสี่ด้าน ด้านละ 15 องค์ รวม 60 องค์ ภายในบรรจุอัฐของพระนางจามเทวี

ภายในพระเจดีย์บรรจุอัฐิของพระนางจามเทวี เดิมมียอดพระเจดีย์หุ้มด้วยทองคำ

ปี พ.ศ. 1184 มีพระฤๅษีไปพบทารกหญิง ถูกพญานกคาบมาทิ้งไว้บนใบบัวหลวง จึงเลี้ยงดูและสอนสรรพวิทยาการต่างๆ ให้

เมื่อพระนางจามเทวี เจริญวัยได้ 13 พรรษา พระฤๅษีจึงต่อนาวายนต์พร้อมด้วยฝูงวานรเป็นบริวารลอยล่องไปตามลำน้ำ ถึงยังท่าน้ำวัดชัยมงคล

เมื่อพระเจ้ากรุงละโว้และพระมเหสีพบเห็น จึงได้นำกุมารีน้อยนั้นเข้าสู่พระราชวัง และตั้งให้เป็นพระราชธิดา นามว่า "จามเทวีกุมารี" และให้ศึกษาศิลปวิทยาการตำราพิชัยสงคราม และดนตรีทุกอย่าง

พ.ศ. 1198 พระนางจามเทวีมีพระชนม์ 14 พรรษา ได้เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าชายราม แห่งนครรามบุรี

พ.ศ. 1204 พระนามจามเทวีมีพระชนม์ 20 พรรษา เป็นกษัตรีย์วงศ์จามเทวีแห่งนครหริภุญชัย โดยพระนางเจ้าได้อัญเชิญพระแก้วขาว (พระเสตังคมณี) จากเมืองละโว้ เมื่อปี 700 ขึ้นมา เพื่อประดิษฐานเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง (ปัจจุบัน พระเสตังคมณีองค์นี้ยังประดิษฐานอยู่ที่วัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่)

พระนางจามเทวี มีพระโอรส 2 องค์ องค์พี่มีนามว่า มหายศ (มหันตยศ) องค์น้องมีนามว่า อินทวร (อนันตยศ)

พระเจ้ามหายศ ได้ขึ้นเสวยครองเมืองหริภุญชัยนคร แทนพระมารดา

องค์น้องพระเจ้าอินทวรไปครองเมืองเขลางค์นคร ที่มหาพรหมฤๅษี และสุพรหมฤๅษีร่วมกันสร้างขึ้นใหม่ให้พระองค์โดยเฉพาะ

ส่วนพระนางจามเทวีมีพระชนม์ได้ 60 พรรษา ได้สละราชสมบัติทุกอย่าง ให้พระโอรสทั้งสอง ออกบวชชี บำเพ็ญพรต อยู่ที่ วัดจามเทวี

พ.ศ. 1276 พระนางจามเทวีได้ปฏิบัติธรรมอยู่ในวัดแห่งนี้ พระชนม์ครบ 92 พรรษา พระนางจึงได้สิ้นพระชนม์ ซึ่งทางพระมหันตยศ และพระอนันตยศ 2 พระโอรสก็ได้จัดถวายพระเพลิงภายในวัดดังกล่าวอย่างสมพระเกียรติ และได้สร้างเจดีย์สี่เหลี่ยมบรรจุพระอัฐิของพระนางไว้ ณ ที่นี้ โดยให้ชื่อเจดีย์ว่า สุวรรณจังโกฏเจดีย์ ที่ได้เป็นต้นแบบของเจดีย์ในแถบล้านนา

ต่อมานานนับพันปี “สุวรรณจังโกฏเจดีย์” ชำรุดผุพัง ยอดพระเจดีย์ได้หัก และหายไป กลายเป็นวัดร้าง และชาวบ้านได้เรียกวัดนี้ว่า “วัดกู่กุด” (กู่กุด เป็นภาษาล้านนา แปลว่า เจดีย์ยอดด้วน)

พ.ศ. 2469 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้เสด็จเยี่ยมวัดแห่งนี้ จึงได้โปรดให้เปลี่ยนชื่อจาก วัดกู่กุด เป็น วัดจามเทวี เช่นเดิม

พ.ศ. 2479 เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ผู้ครองนครลำพูนได้ไปนิมนต์ท่านครูบาศรีวิชัย ช่วยบูรณะวัดจามเทวีอีกครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่นั้นมาวัดจามเทวี ก็เจริญรุ่งเรือง รูปแบบของสถาปัตยกรรมที่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนบนสุวรรณจังโกฏเจดีย์ ได้กลายเป็นโบราณสถานโบราณวัตถุที่ประประเมินค่าไม่ได้

พระพุทธรูปปางต่างๆ ในแต่ละชั้นของเจดีย์แสดงให้เห็นถึงความเลื่อมใสศรัทธา และการเข้าถึงพระพุทธศาสนาของพระนางจามเทวี

สุวรรณจังโกฏเจดีย์เป็นต้นแบบของเจดีย์ทั้งหลาย ซึ่งบางครั้งเรียกเจดีย์ทรงนี้ว่า เจดีย์ทรงขัตติยะนารี

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2525 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมงกุฎราชกุมาร ได้เสด็จมาเปิดอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสวนสาธารณะหนองคอก สร้างเป็นอนุสรณ์แก่พระนางจามเทวี เป็นปฐมกกษัตริย์แห่งหริภุญชัย เป็นปราชญ์ที่มีคุณธรรม มีความสามารถ กล้าหาญ ได้นำพระพุทธศาสนาศิลปวัฒนธรรมมาเผยแพร่จนมีความรุ่งเรืองมาถึงปัจจุบัน




วัดพระธาตุดอยเวียง
ตั้งอยู่บ้านดอยเวียง หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน ห่างจากอำเภอบ้านธิ ประมาณ 7 กิโลเมตร บริเวณใกล้กับอ่างเก็บน้ำแม่ธิ มีเนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ และบนดอยเป็นที่ประดิษฐานเจดีย์เก่าแก่ซึ่งมีพระสารีริกธาตุบรรจุอยู่ สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 1220 ในสมัยพระนางจามเทวี ตามตำนานจารึกในใบลานเล่าว่าขุนหลวงปาละวิจา มาตั้งเมืองที่นี่ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านและได้สร้างวัดไว้บนดอย ต่อมาถูกไฟป่าไหม้ลุกลาม ทำให้เหลือแต่เจดีย์และศาลาเล็ก ๆ หลังหนึ่ง
พระธาตุดอยเวียงพระธาตุดอยเวียง เป็นเจดีย์ขนาดเล็ก สูงประมาณ 10 ม. ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละประมาณ 3 ม. ก่ออิฐถือปูน ลักษณะคล้ายเจดีย์ทรงพม่า


อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ในจังหวัดลำพูนและจังหวัดลำปาง




ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ตั้งอยู่ระหว่างอำเภอ แม่ทา จังหวัด ลำพูน และ อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง

ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ย้ายมาจากศูนย์ฝึกลูกช้างบ้านปางหละ อำเภองาว แต่ปัจจุบันได้ย้ายมาอยู่อาณาบริเวณสวนป่าทุ่งเกวียน และเป็นที่ตั้งของสถาบันคชบาลแห่งชาติและโรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยเป็นสถานที่ฝึกฝนช้างให้มีความสามารถเหมือนมนุษย์ เช่น สามารถเล่นดนตรี กีฬา วาดรูปได้ อีกทั้งยังได้มีการแสดงโชว์ความสามารถของช้าง เป็นที่ประทับใจของชาวต่างชาติที่มาเยี่ยมชมเป็นอันมาก



การแสดงช้าง


การแสดงช้าง



การแสดงช้าง

จังหวัดลำพูนถึงจะเป็นจังหวัดเล็ก ๆ หลายท่านคิดว่าเป็นทางผ่านเพื่อที่จะไปเที่ยวยัง จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำปาง ท่านคิดว่าจังหวัดลำพูนไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ แต่แท้ที่จริงแล้วมีสถานที่สำคัญ ๆ หลายแห่ง นอกจากนี้ยังมีที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอีกหลายแห่ง
ภาพและข้อมูลบางส่วนมาจาก วิถีพีเดีย

ไม่มีความคิดเห็น: