วันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2551

phuket/วัดพระทอง (พระผุด )

วัดพระทองหรือวัดพระผุด

วัดพระทองหรือวัดพระผุด พระประธานในวัดพระทอง จ.ภูเก็ต กลับมีรูปลักษณ์ที่แตกต่างจากวัดทั่วไป โดยพระประธานที่มีเพียงครึ่งองค์ ที่ดูคล้ายโผล่ขึ้นมาจากดิน จนชาวบ้านเรียกขานกันมาช้านานแล้วว่า “พระผุด”

ที่วัดพระผุดแห่งนี้เป็นวัดที่เก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดภูเก็ต มีตำนานเรื่องเล่าความเป็นมาแต่โบราณ

เรื่องการกำเนิดของพระผุดนั้น ไม่ปรากฏที่มาที่ไปชัดเจน แต่ในนิทานพื้นบ้าน ได้เล่าถึงกำเนิดของพระผุดเอาไว้ว่า มีเด็กคนหนึ่งนำควายไปผูกล่ามไว้กับหลัก พอกลับถึงบ้านเด็กและควายก็ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ หลังจากนั้นพ่อเด็กก็ฝันว่า ลูกชายของตนได้นำควายไปผูกไว้ที่พระเกตุมาลาก่อนจะเสียชีวิต รุ่งขึ้นจึงไปดูจึงรู้ว่าเป็นพระพุทธรูป แต่ก็ขุดได้เพียงครึ่งองค์เท่านั้น

ครั้นต่อมามีพระธุดงค์มาปักกลดแถวนั้น เมื่อเห็นพระผุดจึงได้สร้างโบสถ์ขึ้นคลุมพระผุด พร้อมๆกับอันเชิญเป็นพระประธานของโบสถ์ และนี่อาจจะเป็นพระประธานหนึ่งเดียว ในโลกที่มีเพียงครึ่งองค์ก็ว่าได้ ในปัจจุบันพระผุดที่โบสถ์วัดพระทอง จะมีอยู่ด้วยกันสอง(ครึ่ง)องค์ คือ องค์ใหญ่ซึ่งสร้างขึ้นครอบองค์จริงที่ผุดขึ้นมาจากดินอีกที ส่วนองค์เล็กสร้างขึ้นบนฐานเอาไว้ให้คนทั่วไปปิดทอง

เมื่อครั้งเมืองถลางถูกพม่าโจมตี เจ้าเมืองถลางได้ถึงแก่กรรมลงไม่มีเจ้าเมืองคนใหม่ (กำเนิดวีรสตรีเมืองถลาง ) ขณะนั้นเมืองตะกั่วทุ่ง เมืองตะกั่วป่าถูกพม่ายึดได้แล้ว พม่าเข้าตีเมืองถลางกวาดทรัพย์สินของชาวบ้าน พม่ารู้ข่าวว่าพระผุดเป็นทองคำ แต่สวมทับได้ยวปูนขาว พม่าจึงรื้อเอาปูนออกหมดเห็นพระเกตุมาลาพระพุทธรูปผุดมาจากพื้นดิน และเป็นทองคำ พม่าจึงทำการขุดหลวงพ่อพระผุด ขณะที่ทำการขุดนั้นเกิดสิ่งมหัศจรรย์เป็นมดคันตัวเล็กๆขึ้นมากัดพม่าที่ทำการขุด คนพม่าที่ถูกมดกัดก็เกิดเป็นพิษ มีไข้ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ล้มตายไปหลายร้อยคน ในขณะนั้นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชนำทหารยกกองทัพมาช่วยเมืองถลาง ขณะนั้นเป็นฤดูมรสุมมีเสียงดังจากคลื่นในทะเล พม่าได้ยินเสียงคลื่นเข้าใจว่าเป็นเสียงปืนเมืองถลางจะบุกเข้าโจมตีและกลัวทหารของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชจะมาสมทบจึงพากันหนีลงเรือกลับเมือง ทิ้งองค์หลวงพ่อพระผุดให้โผล่เพียงพระศอ (คอ)
เมื่อพม่าถอนทับกลับไปแล้วเมืองถลางได้ตั้งเมืองใหม่ที่บ้านตะเคียน และได้ปฏิสังขรณ์หลวงพ่อพระผุดให้เป็นที่กราบไหว้ของประชาชนชาวบ้าน ทั้งคนไทย คนจีน มานมัสการเหมือนเดิม



นอกจากพระผุดแล้ว ที่วัดพระทองยังมี “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน” เป็นอีกหนึ่งจุดที่น่าสนใจของวัด โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ที่ชั้น 2 ของศาลา ที่อยู่ใกล้ๆกับโบสถ์พระผุด ภายในอาคารจัดแสดงโบราณวัตถุและข้าวของเครื่องใช้ของเมืองภูเก็ต ที่ได้มาจากการสะสมของวัดและการบริจาคของชาวบ้าน


หมอนฝิ่น
ซึ่งเป็นหมอนที่คนจีนสมัยก่อนใช้หนุนนอนเวลาดูดฝิ่น มีรูตรงกลางเอาไว้ใส่เงิน

รองเท้าตีนตุก
เป็นรองเท้าตามความเชื่อแบบจีน เอาไว้ให้ผู้หญิงใส่ โดยรองเท้าตีนตุกจะมีขนาดเล็กกว่ารองเท้าธรรมดาหลายเท่าตัว


จั่งซุ้ย หรือเสื้อกันฝนของชาวเหมืองแร่

นอกจากนี้ในพิพิธภัณฑ์ฯก็ยังมีของเก่าหายากให้เลือกชมอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น นาฬิกา เหรียญ-ธนบัตร จาน-ชาม โคมไฟ หัวโขน พระเครื่อง และก็อีกมากมาย
“พระผุด”มีอีกชื่อหนึ่งคือ“หลวงพ่อพระทอง” ป็นพระประธานอยู่ที่วัดพระทอง หรือ วัดพระผุด หรือวัดนาใน วัดเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ซึ่งตั้งอยู่ที่ บ้านนาใน ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง จ.ภูเก็ต


การเดินทางสู่วัดพระทอง
เมื่อเดินทางเข้ามาในจังหวัดภูเก็ตพอมาถึงสะพานลอยข้ามถนนของเทศบาลตำบลเทพกษัตรี(สะพานแรก ) อีก 100 เมตร ถึงทางแยกเลี้ยวซ้ายเข้าวัดพระทอง (พระผุด ) ห่างจากถนนเทพกษัตรีประมาณ 250 เมตร ก็จะถึงบริเวณวัด

ไม่มีความคิดเห็น: